เหล็กรูปพรรณ คือ เหล็กโครงสร้างอาคารที่มีรูปแบบหน้าตัดหลากหลาย สามารถแบ่งประเภทได้ตามกระบวนการผลิต ซึ่งมี 3 ประเภทได้แก่ เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น และเหล็กรูปพรรณเชื่อมประกอบ โดยรูปแบบของหน้าตัด และกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อการนำไปใช้งานโครงสร้างในแต่ละส่วนของอาคารที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหลักอย่างเสาและคาน หรือโครงสร้างในส่วนอื่น เช่น ตงรับไม้พื้นหรือแผ่นพื้น, โครงหลังคา (อเส จันทัน แป ฯลฯ) เป็นต้น และเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น คือเหล็กโครงสร้างที่ขึ้นรูปเป็นหน้าตัดต่าง ๆ จากการพับหรือม้วนงอแผ่นเหล็กม้วน (Coil Steel) ที่มีความหนาส่วนมากไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ในขณะที่มีอุณหภูมิปกติ และเชื่อมปิดรอยต่อแผ่นยาวตลอดแนว รูปแบบหน้าตัดของเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น เช่น เหล็กกล่อง เหล็กท่อกลม เหล็กตัวซี เป็นต้น

ส่วนเหล็กรูปพรรณเชื่อมประกอบคือ เหล็กโครงสร้างที่เกิดจากการนำแผ่นเหล็กที่มีความหนามากกว่า 3 มิลลิเมตรมาเชื่อมเป็นหน้าตัดต่าง ๆ ตามขนาดที่ต้องการ มักใช้ในงานชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารที่มีรูปแบบและขนาดเฉพาะเจาะจง หรือนอกเหนือจากมาตรฐานการผลิตเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เช่น เสาที่มีหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู หรือคานรูปตัวเอช (H) ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าโรงงานผลิตเหล็กรูปพรรณ รีดร้อนผลิตได้ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญคือรอยเชื่อมเหล็กรูปพรรณประเภทนี้ควรเป็นไปตามที่วิศวกรกำหนดเพื่อความปลอดภัยในการรับน้ำหนักอาคาร

หน้าที่ของเหล็กเส้นในโครงสร้าง ค.ส.ล. คือ การรับแรงดึงในขณะที่คอนกรีตทำหน้าที่รับแรงอัด หรือแรงกด ซึ่งนอกจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นที่ต่างกันจะส่งผลเรื่องความสามารถในการรับแรงดึงของงานโครงสร้างแล้ว ส่วนประกอบทางเคมีในเนื้อเหล็กแต่ละประเภทก็มีผลในการรับแรงเช่นกัน เรียกว่า “ค่ากำลังรับแรงดึง” หรือ “ค่ากำลังรับแรงดึงที่จุดคราก” มีหน่วยเป็น “กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร (กก./ตร.ซม. หรือ ksc)”

เหล็กเส้น เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างประเภทโครงสร้างอาคารในหลายๆ ส่วน ได้แก่ เสา คาน พื้น รวมไปจนถึงงานผนังก่ออิฐ โดยเหล็กเส้นจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ เหล็กเส้นกลม (Round Bar หรือ RB) และ เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar หรือ DB) ซึ่งมีความแตกต่างในการใช้งาน และมาตรฐานในการผลิต การเลือกใช้ให้เหมาะสม และการเลือกซื้อให้ถูกต้องจึงส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้าน และอาคารที่เราอยู่อาศัย

ลักษณะภายนอกของเหล็กเส้นกลมนั้นจะมีผิวเรียบเกลี้ยง หน้าตัดกลม โดยที่มีขายกันอยู่ทั่วไปจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 และ 9 มม. หรือที่ช่างมักเรียกว่า เหล็ก 3 หุน และ เหล็ก 4 หุน ตามลำดับ สำหรับขนาดอื่นได้แก่ 15, 19 และ 20 มม. ต้องสั่งซื้อพิเศษ ส่วนลักษณะของเหล็กข้ออ้อยคือเหล็กเส้นกลมที่มีบั้ง หรือครีบเป็นปล้อง ๆ ตลอดทั้งเส้น โดยครีบหรือปล้องจะมีลักษณะต่างๆ ตามผู้ผลิตแต่ละราย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่มีขายโดยทั่วไปคือ 12 และ 16 มม. สำหรับขนาดอื่นได้แก่ 10, 20, 25 และ 28 มม. ต้องสั่งซื้อพิเศษ โดยทั้งเหล็กเส้นกลม และ เหล็กข้ออ้อยแต่ละขนาดจะมีความยาวอยู่ที่ 10 และ 12 เมตร